0

Theerada Moonsiri

20 May 2020 - 1 min read

7 เทคนิคเก็บเงินเที่ยวให้ทันปลายปี ฉบับมนุษย์เงินเดือน

ถึงต้นปีนี้แพลนอาจจะล่ม แผนอาจจะผิดคาดไปบ้าง อย่ามัวแต่นั่งน้อยอกน้อยใจ คิดบวกเอาไว้แล้วเก็บเงินรอเที่ยวในช่วงปลายปีหลังกันดีกว่า เรามีเทคนิคออมเงินง่าย ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนมาฝาก ฮึดสู้เริ่มเก็บหอมรอมริบตั้งแต่วันนี้ ทริปในฝันส่งท้ายปีก็ไม่ไกลเกินเอื้อม :)

1. เก็บก่อนใช้

โบราณว่าถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม การออมเงินก็เช่นกัน! เจ้าวายร้ายที่จะทำให้เงินหดเงินหายไปก็ไม่ใช่ใครหรอกนอกจากตัวเราเอง วิธีแก้ง่าย ๆ ที่เห็นผลชะงัดก็คือเก็บก่อนใช้ หักดิบไปเลยตั้งแต่วันเงินเดือนออก หักเงินฝากประจำ เงินเก็บส่วนตัว หรือเงินเพื่ออนาคต ลองคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่ไหว แล้วโยกไปฝากเก็บไว้ที่บัญชีอื่น

หากเป็นบัญชีออมทรัพย์ แนะนำว่าอย่าทำบัตร ATM จะได้ถอนยากกว่าเดิมสักหน่อย แต่ถ้าเป็นไปได้และใจพร้อม เราว่าเปิดบัญชีฝากประจำไปเลย จะ 12 24 หรือ 36 เดือนก็ว่าไป ถ้าฝากครบตามกำหนดจะได้ดอกเบี้ยเยอะกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปด้วยนะ

2. เปิดบัญชีแยกเก็บเงินเที่ยว

หากคุณเป็นอีกคนที่มีเป้าหมายในการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน เช่น ปีนี้ตั้งใจจะเที่ยวในประเทศ 2 ทริป เที่ยวต่างประเทศ 1 ทริป เราอยากให้ลองตั้งงบประมาณของแต่ละทริป บวกลบคูณหารดูว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ และตัดสินใจเปิดบัญชีแยกเก็บเงินเที่ยวให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย! ถ้าจะให้ดีก็จัดการตั้งค่าหักเงินฝากอัตโนมัติไปด้วยเลย จะได้ไม่ออกนอกลู่นอกทาง วิธีนี้เราจะได้เห็นตัวเลข เห็นความเป็นไป เห็นทริปในฝันที่กำลังจะกลายเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ถ้าจะเปิดบัญชีใหม่ก็ต้องออกไปธนาคาร เตรียมเอกสารยุ่งยากอีก… ไม่แล้วจ้า! ขอบอกว่าการเปิดบัญชีออมทรัพย์เดี๋ยวนี้ไม่ยุ่งยาก ยิ่งถ้ามีบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารใหญ่ ๆ อยู่แล้วยิ่งหวานหมู เพราะเพื่อน ๆ สามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์ออนไลน์ผ่านแอปฯ ธนาคารได้เลย อีกทั้งยังได้ดอกเบี้ยเท่ากับหรือมากกว่าบัญชีแบบมีสมุดเงินฝากอีกนะ

3. เก็บแบงก์ 50 หรือแบงก์ที่ลงท้ายด้วยวันเกิด

กูรูหลายต่อหลายสำนักต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการเก็บแบงก์ 50 เป็นอีกวิธีออมเงินที่ได้ผลจริง! ลองตั้งปณิธานเลยว่าถ้าเราได้แบงก์ 50 มาจะไม่ใช้เด็ดขาด หากกระเป๋าสตางค์หรือแฟ้มเล็ก ๆ ไว้เก็บให้เป็นเรื่องเป็นราวเลยยิ่งดี อย่าดูถูกพลังของแบงก์เล็ก เก็บไปเรื่อย ๆ แล้วมานับสักทีอาจจะได้หลายพันเลย หรือใครอยากอัปเลเวลเก็บแบงก์ 500 ด้วยก็ไม่ว่ากันนะ

ส่วนใครที่ดวงไม่สมพงษ์กับแบงก์ 50 พอตั้งใจเก็บแล้วแบงก์ 50 ดันหายสาบสูญจากชีวิตไปเลย! จะลองเปลี่ยนมาเก็บแบงก์อะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วยวันเกิดตัวเอง เช่น ถ้าเกิดวันที่ 16 ก็เก็บแบงก์ที่มีหมายเลขลงท้ายด้วย 16 หรือจะเลือกเลขนำโชค เลขที่ชอบก็แล้วแต่สะดวกเลย

4. เก็บเหรียญเงินทอนมาหยอดกระปุก

กระปุกออมสินน่าจะเป็นวิธีคลาสสิกที่หลายคนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ลองมาเพิ่มความสนุกสักหน่อยด้วยการตั้งชาเลนจ์เก็บเงินทอนทุกตอนเย็น ถ้าได้เงินทอนมาเป็นเหรียญก็จงมาหยอดกระปุกให้เรียบ! ถึงมูลค่าของเหรียญจะแค่ 1, 5, 10 บาท แต่พอหยอดจนเต็มกระปุกแล้วอาจจะได้มูลค่ารวมเยอะเกินคาด

สำหรับตัวกระปุกออมสินอาจต้องโหดกันสักหน่อย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เลือกแบบมีแค่ช่องหยอดเหรียญ ไม่มีจุกเปิดเอาเงินออกมา จะได้มีแรงจูงใจให้หยอดจนเต็มแล้ว ‘ทุบ’ กระปุกกันทีเดียว เชื่อเถอะว่าความรู้สึกตอนนั้นมันฟินสุด ๆ ไปเลย!

5. พกเงินสดให้น้อยลง จำกัดวงเงินบน Mobile Banking

ไม่อยากใช้เงินเยอะหรอ? ก็พกเงินให้หน่อยลงสิ! ถึงจะเป็นวิธีที่หัวชนฝาหน่อย ๆ แต่เราว่ามันก็แฟร์ดี ต่อไปนี้ลองพกเงินในกระเป๋าให้น้อยลง พกแบงก์เล็ก ไม่ถอนแบงก์พัน ตรงกับสุภาษิตมีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง น่าจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยประหยัดเงินได้ในระดับนึง

แต่ถ้าใครแอบเจ้าเล่ห์ พกเงินน้อยก็จริงแต่เน้นยิงคิวอาร์โค้ดจ่ายรัว ๆ นี่แหละจะโดนตีมือ! เราแนะนำให้ตั้งค่าจำกัดวงเงินทำรายการต่อวัน (ฟีเจอร์นี้ทำได้แทบทุกแอปฯ Mobile Banking) ให้ต่ำ ๆ ไปเลย ลองคำนวณดูตามความเหมาะสมว่าจะใช้ประมาณวันละเท่าไหร่ ถ้าตั้งใจก็ทำได้แน่นอน

6. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น กำหนดวงเงินช้อปปิ้งรายเดือน

นอกเหนือจากการเก็บออมตัวเงิน อาจต้องลองมาสำรวจไลฟ์สไตล์ของตัวเราเองด้วย ลองดูว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่สามารถลดทอนลงมาได้บ้าง เช่น หากปกติแล้วมีปาร์ตี้ปิ้งย่างกับเพื่อนทุกสัปดาห์ ลองเปลี่ยนเป็นเดือนละครั้งแทนจะดีไหม? ถ้าซื้อกาแฟแก้วละ 100 บาทวันละแก้ว ลองเปลี่ยนมาชงดื่มเองจะประหยัดขึ้นหรือเปล่า? หรือถ้าที่บ้านและที่ทำงานมี Wi-Fi ใช้อยู่แล้ว ลองเช็กดูว่าใช้แพ็กเกจเน็ตมือถือปัจจุบันคุ้มหรือเปล่า ขยับเป็นแพ็กเกจที่ถูกลงจะเข้าท่ากว่าไหม?

อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือการช้อปปิ้งทั้งในห้างและออนไลน์ สมัยนี้จะสั่งอะไรก็ง่าย กดจ่ายเพียงปลายนิ้ว ถึงจะช้อปของจิปาถะราคาครั้งละไม่กี่บาท แต่ถ้าลองเอามารวมกันทั้งเดือน อาจเป็นมูลค่าที่น่าตกใจก็เป็นได้! ฉะนั้น เราแนะนำให้จำกัดงบช้อปปิ้งของแต่ละเดือนไปเลย ใครจะแยกย่อยลงมาเป็นงบช้อปเสื้อผ้า งบช้อปของแต่งบ้าน งบช้อปหนังสือ ก็แล้วแต่สะดวก

7. แลกคะแนนสะสม ใช้แต้มบัตรเครดิตให้คุ้ม

หากจะใช้เงินทั้งที ก็ต้องใช้ให้ออกดอกออกผล ปัจจุบันนี้รอบตัวเรามีสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะในรูปแบบคูปอง เงินคืน โปรแกรมสมาชิก ฯลฯ สำหรับมนุษย์เงินเดือนใจกลางกรุง ลองเอาแต้มบัตรแรบบิทไปแลกกาแฟ ของกิน หรือส่วนลดต่าง ๆ ก็ประหยัดเงินได้ไม่น้อย หรือใครเข้า 7-eleven บ่อย ๆ ก็เอาแต้ม ALL member ใช้แทนเงินสดได้เช่นกัน

สำหรับใครที่ใช้บัตรเครดิต (หรือกำลังมองหาสมัครบัตรเครดิตสักใบ) ก็ลองเลือกแบบที่มีเงินคืน (Cash Back) หรือแบบสะสมแต้ม เช่น บางใบมีส่วนลดสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ต บางใบใช้แต้มจ่ายแทนเงินสดได้ บางใบใช้แต้มแลกไมล์บินได้ บางใบรูดเงินต่างประเทศได้เรทดี ลองเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รับรองว่าเซฟเงินได้แน่นอน!

ติดตามบทความที่น่าสนใจอีกมากมายใน Self Recovery ได้ที่นี่ และที่แฟนเพจ TravelokaTH

ติดตาม Traveloka Xperience ค้นหาที่เที่ยว/กิจกรรม ราคาพิเศษ พร้อมโปรโมชั่น
→ Website: https://www.traveloka.com/th-th/activities
ติดตามคอนเทนต์สำหรับคนชอบเที่ยว พร้อมแจ้งข่าวส่วนลดและโปรฯ มากมาย
→ Facebook Page: https://www.facebook.com/TravelokaTH
ติดตามบทความดี ๆ ครบทั้งที่เที่ยว ที่กิน ที่พัก
→ Traveloka Blog: https://www.traveloka.com/th-th/explore

Tags:
self-recovery
traveloka-xperience
รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา
สมัครรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อคำแนะนำการท่องเที่ยวและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มากขึ้น พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าตื่นเต้น
สมัคร