ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน ความฝัน หรือ Passion ส่วนตัวต่างก็ต้องการแรงขับเคลื่อนกันทั้งนั้น เรามีวิธีเพิ่มไฟให้ Productivity พุ่งปรี๊ดมาฝากกัน รับรองเลยว่าประยุกต์ใช้ได้ทั้งที่บ้านและออฟฟิศ!
1. กำหนดพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน
เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกอย่างควรมีขอบเขต การงานและการใช้ชีวิตก็เช่นกัน สถาปนิก Jen Dalley เขียนบทความบน Forbes เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ทำงานที่บ้านไว้ว่า “ทุกครั้งที่ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ก็เจอกองจดหมายส่วนตัวที่รอไปเปิด แก้วน้ำที่น่าจะต้องล้างได้แล้ว หรือสมาชิกในครอบครัวที่พร้อมชวนเม้าท์ทุกเมื่อ คุณควรมีพื้นที่พิเศษที่ช่วยส่งเสริมสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกำแพงป้องกันตัวเองจากสิ่งล่อใจที่แอบซ่อนอยู่ทุกซอกทุกมุม”
บอกเลยว่าเราเห็นด้วยสุด ๆ โดยเฉพาะช่วง Work From Home ที่ทุกอย่างผสมปนเปกันไปหมด วิธีแก้ง่าย ๆ ที่ลงมือทำได้เลยคือการกำหนดพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน ถ้าที่พักอาศัยของคุณมีมุมเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จะเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ข้างเตียง หรือมุมประหลาด ๆ ที่ยังไม่ได้คิดว่าจะตกแต่งยังไงดี โอกาสมาถึงแล้ว! เราแนะนำให้ลองหาโต๊ะหนังสือ/โต๊ะทำงานสักตัวกับเก้าอี้นั่งสบายมาจัดเป็นมุมทำงานให้ชัดเจน
ถ้าใครทำงานที่บ้านก็จัดการย้ายคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปมาไว้ตรงนี้ ส่วนใครอยากทำงานอดิเรก จะวาดภาพ เย็บผ้า เขียนนิยาย ก็หอบอุปกรณ์มาจัดให้เป็นสัดส่วนได้ในมุมนี้ เมื่อกำหนดพื้นที่ชัดเจนแล้ว สมองจะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น ได้เวลาทำงานแล้วนะถ้ามานั่งตรงมุมนี้ และในทางกลับกันพอลุกจากมุมนี้ก็ได้เวลาเลิกงานแล้ว ได้ทั้ง Productivity และลดความเครียดไปพร้อมกันเลย
Tips: แนะนำให้หามุมใกล้หน้าต่างหรือมุมที่มีแสงธรรมชาติส่องถึง เชื่อเถอะว่าความมหัศจรรย์ของแสงยามเช้ามันทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ากว่าเดิมจริง ๆ
2. รู้จักพักเบรก พักสมอง พักสายตา
หลายคนคงเคยมีโมเมนต์แหงนหน้าขึ้นมาอีกทีก็สี่ซ้าห้าทุ่มซะแล้ว (หรือบางคนบียอนด์กว่า ตีหนึ่งตีสอง หรือเช้าอีกวันก็มี) เราไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดเพราะแต่ละคนคงมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือทุกคนต้องรู้จักพักเบรก พักสมอง พักสายตา
นอกเหนือจากการพักเที่ยงเพื่อกินข้าวแล้ว เราควรจัดเวลาให้ร่างกายและสมองได้พักเรื่อย ๆ ระหว่างวันด้วย Gloria Mark จาก University of California, Irvine ได้เผยผลวิจัยเกี่ยวกับ Attention Span (ช่วงเวลาที่คนเรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ของคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ว่ามีระยะเวลาเพียง 40 วินาทีเท่านั้น นอกจากนี้ Jory MacKay นักเขียนผู้ก่อตั้งบล็อก RescueTime ยังกล่าวว่า “คนเราใช้เวลากับอุปกรณ์ดิจิทัลวันละ 6-9 ชั่วโมง บางคนมองจอวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป ดวงตาอาจเริ่มล้าภายในช่วงเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการพักสายตาระหว่างวันจึงสำคัญมาก”
หนึ่งในเทคนิคบริหารเวลายอดนิยมที่ปฏิบัติตามได้ไม่ยากก็คือ Pomodoro Technique แบ่งเวลาทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที ทำแบบนี้จนครบ 4 รอบแล้วพักยาว 15-20 นาที วิธีนี้จะช่วยเพิ่มพลังและประสิทธิภาพในการทำงานให้ลุกโชนขึ้น แถมยังสร้างกำลังใจระหว่างทางด้วยพักเบรกที่รออยู่เป็นระยะ แต่มีข้อแม้ว่าช่วงเวลาทำงานนั้นห้ามว่อกแว่ก ต้องโฟกัสกับงานอย่างจริงจัง ประเภทที่ทำงาน 5 นาที ไถฟีดอีก 20 นาทีนี่ไม่เอานะ!
Tips: สำหรับใครที่อยากลองใช้ Pomodoro Technique สามารถปรับช่วงเวลาได้ตามสะดวก จะปรับเป็นทำงาน 40 นาที พัก 10 นาทีก็ได้ตามสะดวกเลย
3. ทำ To Do List ล่วงหน้าและจัดเวลาประชุม
ตอนที่ยังเด็กกว่านี้เราไม่เคยเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการ ‘ประชุมทั้งวันจนไม่มีเวลาทำงาน’ มันจะเป็นไปได้ยังไง คนเราจะประชุมอะไรมากมายขนาดนั้น แต่พอเติบโตสู่วัยทำงานจึงรู้ซึ้งว่ามันคือเรื่องจริง! บางทีประชุมจนหมดวัน ได้เริ่มลงมือทำงานจริง ๆ ตอนเกือบเย็น เห็นทีต้องจัดการคอนมาริ (KonMari) ตารางเวลากันหน่อยแล้ว
มาจัดตารางเวลาให้ Spark Joy ด้วยการทำ To Do List ล่วงหน้า เปรียบเทียบง่าย ๆ กับการทำกับข้าว ก่อนจะออกไปจ่ายตลาดก็ต้องวางแผนว่าจะทำอะไรกิน จะได้ซื้อวัตถุดิบมาอย่างถูกต้องและเพียงพอ การทำงานก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ ลองแบ่งเวลาสัก 20-30 นาทีในวันศุกร์เพื่อทำลิสต์งานหรือโปรเจกต์ที่ต้องทำในอาทิตย์ถัดไป พอเขียนลิสต์แล้วก็ระบุ Deadline เข้าไป จะรู้ได้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง
Timo Kiander เขียนบทความไว้บนเว็บไซต์ Lifehack ว่า To Do List ที่ดีควรประกอบไปด้วย
เราขอขยายความเพิ่มการสร้างเกราะป้องกัน อันนี้ต้องรวมไปถึงการจัดเวลาประชุมให้เป็นเรื่องเป็นราวด้วยนะ ลองปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมงานดูถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น วันจันทร์ประชุมกันแค่ไม่เกินเที่ยงดีไหม? ประชุมปกติใช้เวลาแค่ 45 นาทีดีหรือเปล่า? ถ้า Catch-up สั้น ๆ เปลี่ยนจากนั่งเป็นยืนดีไหมจะได้เร็วกว่าเดิม? บอกเลยว่าอย่ามองข้ามเรื่องเล็กน้อยพวกนี้ มันช่วยเซฟเวลาได้มหาศาล ที่เหลือก็ไปโฟกัสกับงานให้ Productivity พุ่งรัว ๆ
4. ลองฝึกสกิลใหม่ ๆ กับคลาสออนไลน์
ถ้ารู้สึกว่าชีวิตมันเริ่มจำเจ ทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ลองฝึกสกิลใหม่ ๆ ดูก็ได้นะไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพหรืองานอดิเรก เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แล้ว!
สำหรับด้านทักษะอาชีพ Cecilia Bhuiya ผู้จัดการฝ่ายคอนเทนต์ของ GoSkills ได้กล่าวไว้ว่า “ช่องว่างระหว่างทักษะต่าง ๆ และการขาดโฟกัสอาจถูกมองข้ามและก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อ Productivity หากไม่มีการฝึกอบรม (Training) ที่สามารถเข้าถึงได้” ดังนั้นการเรียนสกิลใหม่ ๆ หรืออัปเดตองค์ความรู้ให้เข้ากับยุคสมัยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ภายในองค์กร หรือบางบริษัทที่เห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตและพัฒนาส่วนบุคคล (Personal Growth) ก็มี Access สำหรับแพลตฟอร์ม E-Learning ให้พนักงานเลือกเรียนคอร์สออนไลน์ได้ตามใจชอบ [แอบบอกว่าที่ Traveloka ก็มีนะ!]
ในส่วนของงานอดิเรก เราเชื่อว่าทุกคนหาอะไรใหม่ ๆ ทำได้ไม่รู้จบ เช่น ถ้าชอบวาดรูปบนแคนวาสมาแต่ไหนแต่ไร ก็สามารถลองศึกษาการวาดรูปบนอุปกรณ์ดิจิทัลดูก็ได้ หรือจะเปิดโลกลองเรียนภาษาที่สามสี่ห้าก็ว่าไป ยิ่งช่วงที่ได้อยู่บ้านยาว ๆ มีเวลาเยอะขึ้น การเรียนคลาสออนไลน์อาจทำให้คุณได้ค้นพบความชอบใหม่ ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจและแรงฮึดจนกลายเป็น Productivity ดี ๆ นี่เอง
Tips: อยากลงเรียนแล้วสิท่า? ตามไปดู 7 แพลตฟอร์มเรียนฟรีออนไลน์ได้ที่บทความนี้เลย
5. ออกกำลังกาย ขยับร่างกายบ่อย ๆ
ไม่ใช่แค่สายตาที่ต้องการการดูแล ร่างกายของเราตั้งแต่หัวจรดเท้าก็ต้องเอาใจใส่ด้วยเช่นกัน เราคิดว่าเทคนิคข้อนี้อธิบายตัวเองได้ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว ถ้าเราออกกำลังกาย สุขภาพก็แข็งแรง ส่งผลให้มีแรงทำนู่นทำนี่ สอดคล้องกับที่ Dr. Mike Evans ได้เล่าให้ฟังในวิดีโอนี้ว่า การออกกำลังกายจะช่วยส่งเสริมสมาธิ ความจำ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยลดความเครียดอีกด้วย
แล้วต้อง Work Out แบบไหน ต้องไปวิ่งที่สวนลุมหรือเล่นเวทที่ยิมเลยไหม? ถ้าใครทำได้ก็เยี่ยมเลย แต่ความจริงแล้วแค่เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือเดินจากบีทีเอสไปออฟฟิศแทนที่จะซ้อนพี่วินก็ถือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่นกัน Dr. Mike Evans ยังบอกอีกว่า “การออกกำลังกายแค่ 10 นาทีไม่เพียงแต่ช่วยให้ Productive มากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างสุขภาวะเชิงอัตวิสัย (Subjective Well-Being) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าความสุขนั่นแหละ”
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่ว่า การออกกำลังกายที่ใช้พลังงานต่ำ (Low-Intensity Exercise) เช่น การเดิน การยืดกล้ามเนื้อ หรือโยคะจะช่วยกระตุ้น Productivity มากกว่าการออกกำลังกายหนัก ๆ เนื่องจากก่อให้เกิดอาการล้า (Fatigue) น้อยกว่านั่นเอง
Tips: ถ้าคุณเป็นอีกคนที่ไม่ชอบออกกำลังคนเดียว ลองชวนเพื่อน ๆ มาขยับร่างกายด้วยกันก็ได้ ทุกวันนี้มีคลิป Work Out ดี ๆ ให้ดูฟรี ๆ เยอะแยะเลย ขอบอกว่าการออกกำลังกายผ่าน Zoom หรือ Google Hangouts ก็สนุกไม่แพ้เข้าคลาสเลยนะ
6. ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance
Work-Life Balance เป็นไปได้จริงหรือเปล่า? ถ้าพูดกันตามความจริงมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ 100% ในโลกที่ทุกอย่างหมุนเร็วมาก แต่อย่างน้อยเราก็อยากให้พยายามสร้างสมดุลระหว่าง 2 สิ่งนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีผลการวิจัยจาก Corporate Executive Board (CEB) ว่าพนักงานที่พอใจกับผลประโยชน์ด้าน Work-Life จะทำงานหนักกว่าเดิม 21%
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือเวลาทำงานยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) หากโชคดีได้ทำงานในบริษัทที่ไม่ซีเรียสเรื่องเวลาเข้า–ออกงานก็สามารถใช้เวลากับครอบครัวได้มากกว่าเดิม หรืออาจจะมีนโยบายให้ทำงานจากบ้าน (Working From Home) สัก 1-2 วันต่อเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลย
7. ดูหนัง ซีรีส์ หรืออ่านหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ
วิธีสุดท้ายที่เพิ่มไฟ เพิ่มแรงฮึด เพิ่ม Productivity ได้ชะงัดนักแลก็คือชัตดาวน์จากงานไปเลยจ้า! ไปดูหนัง ดูซีรีส์ หรืออ่านหนังสือที่ชอบ นอกจากจะได้ Productivity แล้ว กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้าง Creativity อีกด้วยนะ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวไปเลย
มีผลการวิจัยจาก Lancaster University พบว่าเมื่อเด็ก ๆ ได้ดูภาพยนตร์แฟนตาซี เช่น Harry Potter สามารถช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้จริง ๆ
นอกจากนี้ การอ่านหนังสือเพียงแค่วันละ 30 นาทีก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สมองได้มากโขเลยทีเดียว การอ่านช่วยให้เราเข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาซอฟต์สกิล (Soft Skills) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความใส่ใจ และความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลไปถึง Productivity ด้วยกันทั้งนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดเราเป็นคนชอบเที่ยว อาจจะหาหนังต่างประเทศที่ Cinematography สวย ๆ หรือหนังสือ Travel Journal จากนักเขียนที่ชอบเอาไว้ตามรอยในทริปหน้า พอเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็มีไฟทำงานเพื่อเก็บเงินไปเที่ยว หรือสำหรับใครที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ อาจจะหานิตยสารเก๋ ๆ มานั่งดูเลย์เอาท์ หรือดูสารคดีเกี่ยวกับการออกแบบก็น่าจะช่วยสร้างพลังให้อยากลองลงมือทำบ้างไม่มากก็น้อย
Tips: เรามี 10 หนังดีที่จะช่วยเพิ่มพลังบวกให้กับชีวิตมาฝากด้วย ไปอ่านต่อที่บทความนี้เลย
อ้างอิง:
ติดตามบทความที่น่าสนใจอีกมากมายใน Self Recovery ได้ที่นี่ และที่แฟนเพจ TravelokaTH
ติดตาม Traveloka Xperience ค้นหาที่เที่ยว/กิจกรรม ราคาพิเศษ พร้อมโปรโมชั่น
→ Website: https://www.traveloka.com/th-th/activities
ติดตามคอนเทนต์สำหรับคนชอบเที่ยว พร้อมแจ้งข่าวส่วนลดและโปรฯ มากมาย
→ Facebook Page: https://www.facebook.com/TravelokaTH
ติดตามบทความดี ๆ ครบทั้งที่เที่ยว ที่กิน ที่พัก
→ Traveloka Blog: https://www.traveloka.com/th-th/explore